Wednesday, March 25, 2009

6 Degree Could Change The World



เมื่อโลกร้อนขึ้น 1 องศาเซลเซียสยังจะทำให้มหาสมุทรอาร์กติกปราศจากน้ำแข็งเป็นเวลานานถึง 6 เดือนทีเดียว


หากอุณหภูมิสูงขึ้นแตะเส้น 2 องศาเซลเซียส ธารน้ำแข็งในกรีนแลนด์จะค่อยๆ ละลาย และหมีขาวขั้วโลกเหนือจะเป็นสิ่งมีชีวิตกลุ่มแรกๆ ที่ได้รับผลกระทบอย่างเลี่ยงไม่ได้


ในสารคดียังบอกด้วยว่า เมื่อโลกร้อนขึ้น 3 องศาเซลเซียส ป่าอะเมซนจะแห้งแล้งและเกิดไฟป่าซ้ำๆ ทำให้ปล่อยคาร์บอนหลายร้อนตันออกมาสู่ชั้นบรรยากาศ


เมื่ออุณหภูมิเพิ่มสูงถึง 3 องศาเซลเซียสยังจะทำให้เกิดปรากฏการณ์เอลนิโญ ทำให้เกิดความแห้งแล้งในที่ที่เคยมีฝนตก และเกิดฝนตกหนักในที่ที่ไม่เคยตกมาก่อน


หากโลกร้อนยังร้อนขึ้นถึง 4 องศาเซลเซียส น้ำแข็งที่เต็มไปด้วยหิมะในเทือกเขาหิมาลัยจะละลายจนหมดภายในปี 2578 หากอัตราการละลายยังอยู่ในระดับเดียวกับปัจจุบัน


เมื่อโลกร้อนขึ้น 4 องศาเซลเซียส แผ่นน้ำแข็งในมหาสมุทรอาร์กติกตะวันตกอาจจะละลายและจมหายไปในทะเล



เมื่ออุณหภูมิร้อนขึ้น 6 องศาเซลเซียส โลกจะมีสภาพเหมือนยุคครีเตเซียสเมื่อ 65-144 ล้านปีก่อนซึ่งมีอุณหภูมิสูงกว่าปัจจุบันมาก


เมื่อร้อนขึ้นถึง 6 องศาเซลเซียส จะเกิดการขยายตัวของทะเลทรายในทวีปต่างๆ


ในท้ายที่สุด เมื่อโลกร้อนขึ้นถึง 6 องศาเซลเซียส น้ำทะเลจะมีสีฟ้าใสสวยงาม ทว่าไม่มีสารอาหารหลงเหลืออยู่เลย

ให้จินตนาการเอาเอง ก็คงคิดไม่ออกว่าอุณหภูมิแต่ละองศาที่เพิ่มขึ้นจากภาวะอากาศผันผวนจะเปลี่ยนโฉมหน้าโลกเราไปอย่างไร? และเมื่อนั้นเราจะได้รับผลกระทบอะไรบ้าง? สารคดีความยาว 2 ชั่วโมง เรื่อง

"6 องศาเปลี่ยนแปลงโลกได้" จากเนชันแนลจีโอกราฟิก อาจช่วยให้เห็นภาพชัดขึ้น "อุณหภูมิ 6 องศาเซลเซียสเปลี่ยนแปลงโลกได้" หรือ "Six Degrees Could Change the World" เป็นภาพยนตร์สารคดีที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก "มาร์ค ไลนัส" (Mark Lynas) ผู้สื่อข่าวและนักอนุรักษ์นิยมชาวอังกฤษ เจ้าของหนังสือ "ซิกซ์ ดีกรี" (Six Degrees) ซึ่งอ้างว่าได้ค้นคว้าบทความวิทยาศาสตร์หลายหมื่นชิ้นเพื่อเผยให้โลกเห็นความน่ากลัวของมหันตภัยที่คืบคลานมากับอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นในอีก 100 ปีข้างหน้า


"สภาวะโลกร้อนนั้นไม่ได้หมายถึงแค่การเพิ่มขึ้นช้าๆ ของอุณหภูมิโลก แต่จริงๆ แล้วมันคือการเปลี่ยนแปลงของระบบต่างๆ ในโลก นั่นเป็นเหตุผลที่เราได้เห็นทั้งความแห้งแล้งและน้ำท่วมในสถานที่ต่างๆ หรือแม้แต่การเกิดน้ำท่วมและสภาวะแห้งแล้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่เดียวกันอย่างต่อเนื่อง" ไลนัสกล่าวในตอนหนึ่งของสารคดี ซึ่งเปิดตัวรอบสื่อมวลชนไปเมื่อวันที่ 28 ก.พ.51 ณ ศูนย์การค้าสยามพารากอน

ภาพที่ปรากฏออกมาตลอด 2 ชั่วโมงของ "6 องศาเปลี่ยนแปลงโลกได้" จึงเริ่มตั้งแต่การกล่าวถึงสัญญาณเตือนภัยเบื้องต้นที่โลกประสบแล้ว เช่น ในทวีปออสเตรเลียที่มีอุณหภูมิสูงขึ้น 1 องศาเซลเซียสในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดภัยแล้งที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์

หรือแม้แต่ภัยพิบัติจากเฮอริเคน "แคทรินา" เมื่อปี 2548 ที่ทำลายบ้านเมืองในมลรัฐนิวออร์ลีน ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งแม้จะดูร้ายแรงมาก ทว่าแคทรินาก็ยังเป็นแค่พายุที่มีความรุนแรงระดับ 3 เท่านั้น ขณะเดียวกันในฟากเมืองผู้ดี "อังกฤษ" ก็กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางการเกษตรครั้งใหญ่เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้น พืชที่ไม่เคยปลูกได้ในอังกฤษอย่างองุ่นและมะกอกกลับชูช่องดงาม

สารคดีดังกล่าวบอกเราด้วยว่า ในช่วง 200 ปีที่ผ่านมาหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม อุณหภูมิโลกได้เพิ่มขึ้นแล้ว 0.6-0.8 องศาเซลเซียส

ขณะที่ความเปลี่ยนแปลงอันน่าสะพรึงกลัวกำลังคืบคลานติดตามมา "6 องศาเซลเซียสเปลี่ยนแปลงโลกได้" จำลองภาพให้เห็นว่า เมื่ออุณหภูมิยังเพิ่มขึ้นอีก 1 องศาเซลเซียสเมื่อใด บ้านเรือนผู้คนในเขตอ่าวเบงกอลอาจต้องจมอยู่ใต้น้ำ มหาสมุทรแอตแลนติกตอนใต้จะถูกพายุเฮอริเคนโจมตีอย่างหนัก หรือแม้แต่พื้นที่ฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ ที่อาจต้องแปรเปลี่ยนไปเป็นทะเลทราย

ส่วนอุณหภูมิที่เขยิบขึ้นเพียง 2 องศาเซลเซียสก็เลวร้ายเพียงพอทำให้มหานครหลายแห่งทั่วโลกจมอยู่ใต้น้ำ หนึ่งในนั้นคือ "กรุงเทพมหานคร" รวมทั้งหมีที่อาศัยอยู่ที่ขั้วโลกเหนือจะตกอยู่ในภาวะคับขันเพราะธารน้ำแข็งหดหายไป


นอกจากนั้น เมื่ออุณหภูมิเพิ่มถึงจุดนี้ แนวปะการังใหญ่ "เกรต แบริเออร์ รีฟ" ของออสเตรเลียอาจเหลือเพียงความทรงจำ และธารน้ำแข็งขนาดใหญ่ที่สุดของกรีนแลนด์ที่ชื่อ "จาคอบชวาน" (Jacobshavn) ก็จะละลายเร็วขึ้นกว่าปัจจุบันที่มีอัตราการละลายตัวของน้ำแข็งอย่างน่าตกใจ เพราะเพียง 2 วันก็มีปริมาณน้ำที่เกิดขึ้นเพียงพอให้ชาวนิวยอร์กดื่มกินและใช้ในชีวิตประจำวันได้มากถึง 1 ปีทีเดียว


"ธารา บัวคำศรี" ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แสดงความคิดเห็นหลังชมตัวอย่างสารคดีอย่างปลงๆ ว่า หลังจากดูสารคดีเรื่องนี้แล้วก็ทำให้เขารู้สึกหดหู่ใจไม่น้อย โดยเฉพาะการได้เห็นภาพผลกระทบที่เกิดขึ้นตามที่นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์อย่างรวดเร็วผ่านเทคนิคการถ่ายทำแบบ "ฮอลลีวูด" ที่เร่งให้เห็นผลกระทบรวดเร็วขึ้น


อย่างไรก็ดี เขาบอกว่า เมื่อถึงเวลานั้น ตัวเขาเองคงไม่มีชีวิตอยู่แล้ว ทว่าคงเป็นลูกหลานของเราที่จะรับผลกระทบจากมหันตภัยธรรมชาตินานัปการที่เกิดขึ้นแทน

ส่วนความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น 3 องศาเซลเซียส ตามที่สารคดีดังกล่าวระบุไว้คือ เมื่อนั้นน้ำแข็งบนภูเขาแอลป์จะสูญหายไปทั้งหมด โลกจะเผชิญหน้ากับพายุเฮอริเคนความแรงระดับ 6 ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และการใช้ชีวิตของผู้คนบนโลกจะต้องพลิกโฉมหน้าไปสิ้นเชิง


เมื่อโลกร้อนขึ้น 4 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำในมหาสมุทรต่างๆ จะมีระดับเพิ่มสูงขึ้นจนระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นกว่า 1 เมตร ทำให้เกิดน้ำท่วมรุนแรงในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำที่มีประชากรหนาแน่น เมืองแห่งแม่น้ำลำคลองอย่าง "เวนิส" รวมไปถึงมหานครสัญลักษณ์ของ "อำนาจทุนนิยม" อย่าง "นิวยอร์ก" จะจมอยู่ใต้บาดาล


ไม่เพียงเท่านี้ แม่น้ำคงคาที่เป็นแหล่งน้ำแห่งชีวิตของคนกว่าพันล้านคนในจีน อินเดีย และเนปาลจะเกิดน้ำท่วมอย่างหนักเนื่องจากธารน้ำแข็งบนเทือกเขาหิมาลัยละลายลงมาจนหมดอย่างถาวร กระทบถึงแหล่งน้ำสะอาดและแหล่งผลิตอาหารอย่างฉกาจฉกรรจ์

จากนั้นเมื่อโลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น 5 องศาเซลเซียส มหานครของโลกอย่างลอสแองเจลลิส กรุงไคโร ลิมา และบอมเบย์ที่เคยปกคลุมด้วยหิมะและน้ำแข็งในบางช่วงเวลาอาจจะกลายเป็นเมืองที่ไม่มีหิมะอีกเลย อีกทั้งจะมีผู้ลี้ภัยเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงหลายสิบล้านคนและยังมีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดความขัดแย้งในการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติที่ขาดแคลนเพิ่มสูงขึ้นด้วย


และในท้ายที่สุด หากอุณหภูมิโดยเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นถึง 6 องศาเซลเซียส โลกของเราจะมีสภาพคล้ายคลึงกับยุคครีเตเซียสเมื่อประมาณ 65-144 ล้านปีก่อนซึ่งโลกมีอุณหภูมิสูงกว่าปัจจุบันมาก น้ำทะเลจะมีสีใสเพราะไม่มีสารอาหารในทะเลหลงเหลืออยู่เลย ทะเลทรายจะครอบครองพื้นโลกมากขึ้นตามทวีปต่างๆ และการเกิดภัยพิบัติจะเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน


เมื่อเทียบเคียงกับรายงาน 2 ฉบับแรกของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ไอพีซีซี) พบว่า หากเรายังคงปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศอย่างไม่มีขีดจำกัด อาจทำให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นถึง 6 องศาเซลเซียส ภายในปี 2643 หรืออีก 92 ปีข้างหน้านี้เท่านั้น


แต่ถึงจะดูเหมือนไร้ความหวังรอดพ้นจากวิกฤตินั้น ธารา มองว่าเราทุกคนยังช่วยกันหาทางออกของปัญหาดังกล่าวได้ดังที่ไลนัสฝากไว้ให้ขบคิดก่อนที่อุณหภูมิโลกจะสูงขึ้นแตะเส้น 2 องศาเซลเซียสที่เป็นจุดพลิกผัน

Source : FW
เครดิตภาพประกอบทั้งหมดจากเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ชาแนล เอเชีย

No comments: